เมื่อ วันศุกร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปิน ผู้มีความสามารถ และอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจนโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสาธารณชน เป็นศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ดังนี้
๑. สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่
๑.๑ นายธงชัย รักปทุม (จิตรกรรม) >> ประวัติ
๑.๒ นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี (สถาปัตยกรรมไทย) >> ประวัติ
๑.๓ นางประนอม ทาแปง (ประณีตศิลป์- ศิลปะผ้าทอ) >> ประวัติ
๒. สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่
๒.๑ นายสมบัติ พลายน้อย (สารคดี เรื่องสั้น) >> ประวัติ
๒.๒ นายสุรชัย จันทิมาธร (เรื่องสั้น สารคดี กวีนิพนธ์ ) >> ประวัติ
๓. สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่
๓.๑ นายควน ทวนยก (ดนตรีพื้นบ้าน) >> ประวัติ
๓.๒ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันเอกพิเศษชูชาติ พิทักษากร (ดนตรีสากล) >> ประวัติ
๓.๓ นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์- นักแสดง) >> ประวัติ
๓.๔ นายสุประวัติ ปัทมสูต (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ – ผู้กำกับ นักแสดง) >> ประวัติ
สำหรับ เกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาตินี้ ศาสตราจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ประกอบด้วย ๓ หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้
เกณฑ์ที่ ๑. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
ซึ่งมี ๖ ประการ ได้แก่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน / เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น / เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นๆ / เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอดหรือเป็นต้นแบบศิลปะแขนงนั้น / เป็นผู้มีคุณธรรม และมีความรักในงานศิลปะของตน / และเป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
เกณฑ์ที่ ๒. คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ
เช่น ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคม และวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ค่านิยม จริยธรรม เอกลักษณ์ของท้องถิ่นและเอกลักษณ์ของชาติ/ผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์เฉพาะ ตนไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่นหรือมีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น
เกณฑ์ที่ ๓. การเผยแพร่และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ
ประกอบด้วย ผลงานที่ได้รับการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด / ผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ
การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะคัดเลือกใน ๓ สาขา ได้แก่
๑. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ส่วนที่เป็น วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย / มัณฑศิลป์ / การออกแบบผังเมือง / การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น
๒. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ
๓. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
๓.๑ ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย ๓.๒ ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล ๓.๓ ภาพยนตร์และละคร
นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๗ และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๘ จนปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๓) มีศิลปินสาขาต่างๆที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม ๒๑๒ คน เสียชีวิตไปแล้ว ๘๗ คน มีชีวิตอยู่ ๑๒๕ คน
สำหรับผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับเงินตอบแทน เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย และหากเสียชีวิต จะมีค่าช่วยเหลืองานศพ ๑๕,๐๐๐ บาท ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึก ๑๒๐,๐๐๐ บาท
อนึ่ง ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ที่ได้รับการคัดเลือก จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งตรงกับวันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมพิธีเปิดนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ในระหว่างวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ – ๕ มีนาคม ๒๕๕๔ จะมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์ศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยกิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๓ รายการจิบน้ำชา สนทนากับศิลปินแห่งชาติ และการแสดงชุดพิเศษของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
จึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดของกิจกรรมในแต่ละวันเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
Copyright © 2010 ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร::สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. All Rights Reserved.